เอาไว้เป็นที่ระลึก “ไผ่หวาน”

ใครจะเชื่อว่า ต้น “ไผ่หวาน” ที่ขึ้นอยู่ตามหัวไร่ปลายนา ที่ดูเหมือนไม่มีคุณค่าจะกลายเป็น “ไผ่เศรษฐกิจ” สร้างมูลค่าให้กับผู้ค้นพบ แล้วขยายผลไปสู่เกษตรกรที่บ้านคลองใหญ่ ต.ทุ่งมหาเจริญ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว แล้วแพร่หลายไปหมู่บ้านใกล้เคียงในเนื้อที่เกือบ 2,000 ไร่ จนวันนี้ชื่อของ “กลุ่มเกษตรกรส่งเสริมอาชีพปลูกไผ่หวาน ต.ทุ่งมหาเจริญ” เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรหลายจังหวัด เพราะชาวบ้านที่ปลูกต้นไผ่สร้างรายได้ให้ครอบครัวเป็นอย่างดี

นายไกรศักดิ์ เศษศรี ประธานกลุ่มเกษตรกรส่งเสริมอาชีพปลูกไผ่หวาน ต.ทุ่งมหาเจริญ เล่าถึงที่มาของไผ่หวานว่า เมื่อ 8 ปีที่แล้วชาวบ้านเห็นต้นไผ่หวาน หรือไผ่ป่า มีคนมาปลูกอยู่ตามชายคลอง และตามท้องไร่ ท้องนา เข้าใจว่าน่าจะเป็นฝีมือของชาวอีสานที่อพยพมาอยู่วังน้ำเย็น มาปลูกไว้กิน ต่อมาเขาไปปลูก เพื่อทำเป็นสวนป่า โดยไม่นึกเลยว่า วันนี้จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นอย่างดี

“เริ่มแรกผมไม่รู้ว่าเป็นไผ่หวาน เพียงแค่เห็นแปลก ต่างจากไผ่ตงที่เคยเห็น เลยไปขอซื้อจากเจ้าของที่มาปลูกรวมกันในสวนไผ่ตง เพียงอยากทำเป็นสวนป่า จนกระทั่งแตกหน่อ ชาวบ้านลองกินดู รสชาติถูกปาก เลยหันมาปลูกกันใหญ่” นายไกรศักดิ์ กล่าว

หลังจากนั้นมา นายไกรศักดิ์ ได้ใช้เวลาว่างหันมาปลูกไผ่หวานเป็นอาชีพเสริม ปรากฏว่าไผ่ชนิดนี้โตเร็วมาก ใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวก็แตกหน่อแล้ว พอดีปีนั้น ไผ่ตงออกดอกและตายหมด ทำให้ไผ่หวานกลายมาเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรที่หันมามาปลูกไผ่ชนิดนี้ จนปัจจุบันสามารถทำเงินได้เป็นอย่างดี เพราะทุกส่วนขายได้หมด ทั้งหน่อไม้ กิ่งพันธุ์ และต้นไผ่ ซึ่งเกษตรกรซื้อนำไปใช้เป็นร้านสำหรับปลูกแคนตาลูป และหลักปักให้หอยแมลงภู่เกาะ เป็นต้น

“หน่อของไผ่หวาน ลักษณะพิเศษคือหน่อเล็ก มีเนื้อที่ละเอียดเหมือนหน่อไผ่ป่า เนื้อในตันไม่กลวงเหมือนไผ่ลวก แม้ว่าหน่อของไผ่ตงจะหวานกว่านิดหน่อย แต่ปัจจุบันคนก็หันมาบริโภคไผ่หวานกันมาก ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคสดหรือจะแปรรูปใส่ปี๊บ ปัจจุบันหน้าแล้งขายในราคากก.ละ 15-20 บาท หน้าฝน กก.ละ 5-7 บาท นอกจากนี้ต้นพันธุ์ขายได้อีกตกต้นละ 30 บาท” นายไกรศักดิ์ กล่าว

นายไกรศักดิ์ บอกอีกว่า เขาปลูกไผ่หวานทั้งหมดกว่า 100 ไร่ แต่ละไร่จะมีมีรายได้สุทธิไร่ละ 2,000 บาทต่อ 1 ฤดูกาล หากเทียบกับพืชอื่นๆ ถือว่าเป็นรายได้กว่ามาก เพราะการปลูกไผ่ชนิดนี้ไม่ต้องดูแลมาก เพียงแต่รดน้ำให้ชุ่มวันเว้นวัน พอเก็บหน่อไปแล้ว รอกอีก 2 เดือนก็จะออกหน่อใหม่อีก ขณะที่ตลาดมีแนวโน้มไปได้ดี ทั้งในส่วนของหน่อไม้ และต้นพันธุ์ เพราะมีคนสนใจมาก เฉพาะต้นพันธุ์ปีที่ผ่านมาเขาสามารถขาย 4 หมื่นต้น
“ตอนนี้สมาชิกของกลุ่มเกษตรกรส่งเสริมอาชีพปลูกไผ่หวาน ต.ทุ่งมหาเจริญ ซึ่งมีอยู่ราว 80 คน ได้ขยายไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงแล้วกว่า 2,000 ไร่ ตามอำเภอต่างๆ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงด้วย” นายไกรศักด์ กล่าว

สำหรับขั้นตอนการปลูกนั้น ควรปลูกในดินร่วนปนทราย ดินลึกมีการระบายน้ำดี ใกล้กับแหล่งน้ำ หลุมที่ปลูกไผ่ควรมีขนาดกว้างxยาวxลึก ไม่น้อยกว่า 50x50x50 ซม. ระยะห่าง 3×3 เมตร เมื่อนำกิ่งพันธุ์ลงหลุมแล้ว ควรใส่ปุ๋ยคอกพอประมาณแล้วให้น้ำวันเว้นวัน จนกระทั่งรอให้ใบชุดใหม่แตกออกมาจึงให้ปุ๋ยอีก ส่วนใหญ่แล้วจะให้ปุ๋ย 4 เดือนครั้งหรือปีละ 3 ครั้ง โดยให้ปุ๋ยระยะห่างจากโคนต้น 1 เมตร พอปลูกได้ 8 เดือนขึ้นไปจะเริ่มตัดหน่อได้

ไม่รู้มติชนมาแอบมาสัมภาษณ์พ่อตอนไหน แต่ก็ขอเอามาเก็บไว้อ่านหน่อย มันเข้าไปหาลิงค์มาอ้างอิงในเว็บไม่ได้แล้วซะด้วยสิ

About ironkong , อ้วนไผ่หวาน

CustomerReview

Posted on กันยายน 27, 2008, in ความหลังเมื่อครั้งเยาว์วัย and tagged , , , , . Bookmark the permalink. 1 ความเห็น.

  1. ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ๆครับ

ใส่ความเห็น